เชื้อก่อโรคในส้มตำหอยดอง

ที่มา : เว็บไซต์ไทยรัฐ

เชื้อก่อโรคในส้มตำหอยดอง thaihealth

ส้มตำ เป็นอาหารที่รับประทานได้ทุกมื้อ ทุกที่ ทุกเวลา เนื่องจากเป็นอาหารที่หารับประทานง่ายและปรุงเองได้ง่ายตามใจชอบโดยสามารถใส่วัตถุดิบได้หลากหลายชนิด

        เรามักเรียกชื่อส้มตำแต่ละชนิดตามวัตถุดิบ เช่น ส้มตำมะม่วง ส้มตำแตง ส้มตำถั่ว ส้มตำปูปลาร้า ส้มตำกระท้อน ส้มตำหอยดอง เป็นต้น

        หลายคนมักจะตั้งคำถามและพิพากษาให้ส้มตำเป็นอาหารที่ต้องเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย เหตุเพราะบางรายทานแล้วเกิดอาการท้องร่วง ท้องเสีย ขั้นเบาถึงขั้นรุนแรง นั่นเป็นเรื่องที่ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ สาเหตุของอาการดังกล่าว เกิดขึ้นจากจุลินทรีย์ก่อโรคที่มีอยู่ในอาหาร และที่มักพบบ่อยและคุ้นหู คือ วิบริโอ พาราฮิโมไลติคัส

         เชื้อก่อโรคชนิดนี้ เป็นเชื้อที่มักพบปนเปื้อนในอาหารทะเล และตามธรรมชาติ ดิน แม่น้ำ ทะเล อากาศ เมื่อนำอาหารทะเลมาใช้เป็นวัตถุดิบปรุงอาหาร หรือหากมือผู้ปรุงสัมผัสกับเชื้อ เมื่อเราทานอาหารเข้าไป ร่างกายก็จะได้รับอันตรายจากเชื้อก่อโรคเข้าไปด้วย เชื้อชนิดนี้มีระยะฟักตัว 4-96 ชั่วโมง หลังจากที่ทานอาหารที่มีการปนเปื้อนเข้าไป ส่วนใหญ่อาการจะเกิดประมาณ 15 ชั่วโมงหลังจากได้รับเชื้อ อาการทั่วไปคือ ท้องเสีย เป็นตะคริว อาเจียน มีไข้หนาวสั่น

วันนี้ สถาบันอาหารทำการสุ่มเก็บตัวอย่างส้มตำหอยดองตามร้านขายส้มตำ จำนวน 5 ตัวอย่าง จาก 5 ย่านการค้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อตรวจหาการปนเปื้อนของ เชื้อ วิบริโอ พาราฮิโมไลติคัส ผลปรากฏว่าไม่พบการปนเปื้อนในส้มตำหอยดองทุกตัวอย่าง วันนี้ท่านที่โปรดปรานส้มตำหอยดองก็คงสบายใจกันได้

10 เคล็ดลับ ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ

ที่มา : ผศ.นพ.ยุทธนา  อุดมพรงานสร้างเสริมสุขภาพศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

10 เคล็ดลับ ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ thaihealth

ใครๆ ก็อยากมีสุขภาพที่แข็งแรง แต่การออกกำลังกายจะให้ได้สุขภาพดีนั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย

1. รู้จักประมาณตน การประมาณตนในการออกกำลังกายแต่พอควร จะช่วยให้ร่างกายเผาผลาญอาหารและพลังงานส่วนเกินได้ดี  มีข้อสังเกตคือ ถ้าออกกำลังกาย เหนื่อยแล้ว ยังฝืนต่อด้วยความหนักเท่าเดิมโดยไม่เหนื่อยเพิ่มขึ้น และพักไม่เกิน 10 นาที ก็รู้สึกหายเหนื่อย แสดงว่าร่างกายทนได้  ตรงข้ามถ้าออกกำลังกายจนเหนื่อยทนไม่ไหว หรือพักแล้วยังไม่หายเหนื่อย แนะนำให้หยุด   เพราะขืนเล่นต่อไป  อาจเกิดหัวใจวายเฉียบพลันได้

2. มีโรคประจำตัวหรือไม่ หากมี ควรปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะเลือกวิธีการออกกำลังกายเพื่อความปลอดภัย

3. แต่งกายเหมาะสม  ควรใช้ผ้าฝ้าย  เพื่อระบายความร้อนสะสมที่เกิดขึ้นขณะออกกำลังกาย เพราะความร้อนจะเป็นตัวจำกัดการออกกำลังกาย แล้วยังทำอันตรายต่อระบบต่างๆ ในร่างกายด้วย ส่วนการเลือกใช้รองเท้าที่ไม่เหมาะกับสภาพสนาม อาจส่งผลเสียต่อการเคลื่อนไหวและเกิดการบาดเจ็บได้

4. เลือกเวลาออกกำลังกาย เวลาเช้าตรู่และตอนเย็นเหมาะที่สุดในการออกกำลังกายมากกว่าตอนกลางวัน  ซึ่งจะทำให้เหนื่อยเร็วและได้ปริมาณน้อย  บางรายอาจหน้ามืด10 เคล็ดลับ ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ thaihealthเป็นลมก็มี ทั้งนี้ควรเป็นเวลาเดียวกันทุกวัน เพราะจะส่งผลดีต่อการปรับตัวของร่างกาย

5. สภาพกระเพาะอาหาร  ควรงดอาหารหนักเพื่อป้องกันการจุกเสียดก่อนออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาอย่างน้อย 3 ชั่วโมง โดยเฉพาะกีฬาที่มีการกระทบกระแทก เช่น รักบี้ฟุตบอล  บาสเกตบอล รวมถึงกีฬาที่ต้องเล่นเป็นเวลานานๆ เช่น วิ่งมาราธอน  จักรยานทางไกล  ซึ่งควรรับประทานอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตที่ย่อยง่ายในปริมาณไม่ถึงอิ่มเป็นระยะๆ จะดีกว่า

6. ดื่มน้ำเพียงพอ หลังการออกกำลังกาย ร่างกายจะสูญเสียเสียน้ำได้ถึง 2 ลิตร หรือมากกว่านั้น ดังนั้นควรให้น้ำชดเชยในปริมาณเท่ากับที่สูญเสียไป โดยดื่มทีละนิดๆ เป็นระยะ

7. บาดเจ็บกลางคัน  ขณะออกกำลังกาย  ให้หยุดพักจะดีที่สุด แต่หากบาดเจ็บเล็กน้อย อาจออกกำลังกายต่อได้ แต่ถ้ารู้สึกเจ็บปวดมากขึ้น  ก็ต้องหยุด เพราะการฝืนต่อไปอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

8. จิตใจต้องพร้อม   ควรทำจิตใจให้ปลอดโปร่ง หากมีเรื่องไม่สบายใจ ก็ไม่ควรออกกำลังกาย เพราะอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

9. ความสม่ำเสมอ  ไม่ว่าจะออกกำลังกายให้สุขภาพแข็งแรงหรือลดน้ำหนัก แต่จะได้ผลแค่ไหนขึ้นกับปริมาณ และความหนักเบาของการออกกำลังกายด้วย

10.พักผ่อนเพียงพอ  หลังการออกกำลังกาย  จำเป็นต้องพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟูสภาพของตนเองและพร้อมรับการออกกำลังกายครั้งใหม่อย่างมีพลังต่อไป

1 2